วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติองค์การสวนยาง

          ประวัติองค์การสวนยาง

                 การก่อตั้ง(วันจัดตั้ง)


ท่านชุบ มุนิกานนท์
ในระหว่างปี 2482 – 2484 หัวหน้ากองการยาง (พระยาอนุวัติวนรักษ์) ซึ่งขณะนั้นกองการยางยังสังกัดอยู่ในกรมป่าไม้ได้รับเงินจำนวนหนึ่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ไปซื้อที่ดินสวนยางในตำบลนาบอน และตำบลช้างกลาง อำเภอทุ่งสง และอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏว่าซื้อได้ประมาณ 6 – 7 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ และรับฝากขายอีกหลายแปลงเนื้อที่ประมาณ 170 ไร่ ขณะที่ออกหาซื้อที่ดินสวนยาง พระยาอนุวัติวนรักษ์ ได้สำรวจพบสวนยางปลูกใหม่ อายุประมาณ 1 – 2 ปี เป็นจำนวนหลายพันไร่ ปลูกติดต่อกันอยู่ในพื้นที่ที่บุกเบิกใหม่ ปรากฏว่าต่อมาที่ดินปลูกสร้างสวนยางใหม่เหล่านี้ เป็นที่ดินที่มีการบุกเบิกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิ่งจะมาหักล้างถางพงบุกเบิกปลูกยางเมื่อ 1-2 ปีมานี้เอง อายุของต้นยางเป็นพยานได้ชัดแจ้ง พระยาอนุวัติ วนรักษ์ จึงได้ร่วมมือกับที่ดินจังหวัด ดำเนินการสอบสวนและขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินเพื่อความเรียบร้อยของที่ดินและป่าแห่งนี้ ทางราชการจึงได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พุทธศักราช 2484 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2484 หวงห้ามที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อการเกษตร รวมเนื้อที่ในเขตพระราชกฤษฎีกาประมาณ 12,000 ไร่ ในเนื้อที่ดังกล่าวปรากฏว่ามีต้นยางอ่อนปลูกอยู่แล้วประมาณ 6,000 ไร่
     นอกจากนี้ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ สวนยาง 6,000 ไร่ ดังกล่าวนี้ได้ตกมาอยู่ในความดูแลของกองการยาง กรมป่าไม้ กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าที่ดินแห่งนี้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการขยายกิจการด้านสวนยางให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดแผนงานที่จะดำเนินการในสวนยางแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรชาวสวนยางเท่าที่จะทำได้ โดยกำหนดแผนงานขึ้นในระยะแรกไว้ดังนี้
      • จะดำเนินการขยายยางพันธุ์ดีไปสู่ราษฎร
      • จะส่งเสริมแนะนำเจ้าของสวนให้ดูแลรักษาสวนยางทั้งการกรีด และการทำยางออกจำหน่ายให้ถูกต้องตามหลักวิชา
      • จะทำการค้นคว้าทดลอง เกี่ยวกับกิจการยางในด้านต่าง ๆ ทำนองเดียวกับสถาบันวิจัยยางในมาเลเซีย

     ต่อมาในปลายปี 2484 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น งบประมาณที่จะใช้ตามแผนงานต้องนำไปใช้ด้านการทหาร จึงไม่สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้ กองการยางจึงเพียงแต่ดูแลรักษาสวนยางดังกล่าวภายในวงเงินที่ได้รับมาแต่ละปี จนกระทั่งสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2488 ในระหว่างสงคราม เจ้าหน้าที่กองการยางคณะหนึ่ง ได้เข้าไปซื้อเครื่องมือทำยางแผ่น และยางเครปจากมาเลเซีย (ที่รัฐมาลัย) มาเป็นจำนวนมากเพื่อติดตั้งเตรียมไว้สำหรับทำยางแผ่นและยางเครปต่อไป เพราะในระยะนั้นมีต้นยางขนาดกรีดได้แล้ว ประมาณ 600-800 ไร่ ในระหว่างปี 2485-2490 กิจการสวนยางได้มารวมอยู่ในสังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินงานในด้านการเงินคล่องตัวขึ้น จะได้ดำเนินการค้าได้สะดวก



     ในปี 2490 กิจการของสวนยางแปลงนี้ได้โอนไปรวมอยู่กับ บริษัท แร่และยาง จำกัด แต่ยังไม่ทันจะได้ดำเนินการประการใด บริษัทแร่ละยางก็ต้องยกเลิกไป สวนยางแห่งนี้จึงกลับมารวมอยู่กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เช่นเดิม
     ในเดือนตุลาคมปี 2491 กรมสวัสดิการทหารบก กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งให้ พ.ท.พร้อม ณ ห้อมเพชร และ พ.อ.ยง ณ นคร ไปศึกษากูกิจการทำสวนยางในสวนยางแห่งนี้ และตกลงใจที่จะเข้าดำเนินการในสวนยางแห่งนี้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2491 โดยกรมสวัสดิการทหารบกจะติดต่อกับกระทรวงเกษตร ให้โอนสวนยางให้แก่กรมสวัสดิการทหารบก แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป สวนยางแห่งนี้จึงยังคงอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ต่อไปตามเดิม เนื่องจากต้นยางในเนื้อที่ 6,000 ไร่ เติบโตได้ขนาดที่จะทำการกรีดเอาน้ำยางมาขายได้ จำเป็นต้องเตรียมการจัดฝึกและจัดหาคนงานมาทำการกรีดยาง ทำการสร้างโรงงานทำยาง ตลอดจนอาคารบ้านพักต่าง ๆ และจะต้องดำเนินงานด้านการผลิตและการขายยางเพื่อปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องแยกงานมาดำเนินการเป็นเอกเทศ และในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 อนุมัติให้จัดตั้งเป็นองค์การขึ้น เรียกว่าองค์การสวนยางนาบอน” สังกัดสำนักปลัดกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีมติดังนี้
      • ให้กองการยางซึ่งได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายทำสวนยางนาบอนอยู่แล้ว คงดำเนินการต่อไปภายในจำนวนเนื้อที่และวงเงินที่ได้รับ
      • อนุมัติให้ตั้งองค์การสวนยางขึ้นในกระทรวงเกษตร เพื่อดำเนินการทำสวนยางส่วนที่เหลือจากกองการยางทำ
                                                                                        การก่อตั้ง

วันก่อตั้งองค์การสวนยาง คือวันที่ 2 กันยายน 2492พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ.2504 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของ องค์การสวนยางไว้ดังนี้
   1. ประกอบเกษตรกรรม ซึ่งมีการทำสวนยางพาราเป็นสำคัญรวมทั้งการสร้างแปลงเพาะและแปลงขยายพันธุ์ยางพารา
   2. ผลิตยางแผ่นรมควัน ยางเครปขาว น้ำยางข้น ยางผง ยาง      แท่ง ยางชนิดอื่น ๆ และสารประกอบของยางพารา
   3. ประดิษฐ์หรือผลิตวัตถุจากยางพารา
   4. ผลิตและจำหน่ายพลังงานเพื่อประโยชน์แก่กสิกรรม และกิจการ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ขององค์การสวนยาง
   5. ประกอบการค้าและธุรกิจเกี่ยวกับผลิตผล ผลิตภัณฑ์ และวัตถุพลอยได้ที่เกิดจากกิจการตามข้อ 1,2,3 และ 4 และเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องจักรกล และอุปกรณ์เกษตรกรรม
   6. อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนเกี่ยวกับยางพารา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น